สมัยคลาสสิก ของ จงประสาทความยุติธรรม แม้ฟ้าจะถล่มก็ตามที

การอุปมาด้วยฟ้าถล่มในสมัยโบราณ

สันนิษฐานกันว่าการอุปมาด้วย "ฟ้าถล่ม" (อังกฤษ: falling sky) เป็นปรกติในสมัยคลาสสิก ดังที่ปรากฏหลายครั้งในวรรณกรรมแห่งยุค อาทิ งานเขียนของ พูบลิอุส เทเรนทิอุส อาเฟอร์ (ละติน: Publius Terentius Afer) นักเขียนบทละครแห่งสาธารณรัฐโรมัน เช่นในบทว่า "ผู้ขลาดหวาดฟ้าว่าจะพัง ฉะนี้หวังพึ่งได้ไฉนเล่า" (อังกฤษ: What if I have recourse to those who say, ‘What now if the sky were to fall?'; ละติน: Quid si redeo ad illos qui aiunt, ‘Quid si nunc cœlum ruat?)[4]

เช่นเดียวกับเรียงความของ ลูชิอูส ฟลาวิอูส อาร์ริอานูส (กรีก: Lucius Flavius Arrianus) เรื่อง "แคมเพนส์อ็อฟอเล็กซานเดอร์" (อังกฤษ: Campaigns of Alexander, "ยุทธรณรงค์แห่งพระเจ้าอเล็กซานดอร์") บรรพที่ 1 บทที่ 4 ว่า พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มีพระราชปุจฉาไปยังทูตานุทูตแห่งเคลต์ ซึ่งล้วนประกอบด้วยกายาอันกำยำ กิริยาอันทะนงยโส และมาจากทะเลเอดรีอาทิก (อังกฤษ: Adriatic) ว่า "ในโลกนี้ สิ่งไรเล่าที่ท่านทั้งหลายเกรงกลัวเป็นที่สุด" และทูตานุทูตสนองพระราชปุจฉาว่า "ข้าพระองค์ทั้งหลายเกรงว่าฟ้าจะร่วงลงสู่ศีรษะแห่งเรา" ฝ่ายพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ซึ่งมีพระราชประสงค์จะได้ยินว่าเขาทั้งหลายเกรงกลัวพระองค์เป็นที่สุด ก็ไม่ทรงสมพระราชหฤทัย และทรงตระหนักโดยปริยายว่า หามีอำนาจของมนุษย์ใดในใต้หล้าจะทำอันตรายพวกเขาได้ เว้นแต่อำนาจของพิบัติภัยทางธรรมชาติโดยแท้

ทำนองเดียวกับในบทร้อยกรองกำสรดบทหนึ่งของ เธอ็อกนิสแห่งเมเกรา (อังกฤษ: Theognis of Megara) กวีชาวกรีก ซึ่งว่า "แม้นข้ามิภักดิ์ผู้รักข้า หรือขุ่นโกรธาปรปักษ์ไซร้ จงฟ้าโรจน์ร่วงลงตรงเกไศ (นี้ชนในใต้หล้าล้วนแสยง)" (อังกฤษ: "May the great broad sky of bronze fall on my head / (That fear of earth-born men) if I am not / A friend to those who love me, and a pain / And irritation to my enemies.")[5]

ในขณะที่ อริสโตเติล (อังกฤษ: Aristotle) กล่าวในผลงานของเขาเรื่อง "ฟิสิกส์" (อังกฤษ: Physics, "กายภาพ") บรรพที่ 4 ว่า ความเชื่อที่ว่าท้องฟ้าตั้งอยู่บนบ่าของยักษ์แอตเลิส (อังกฤษ: Atlas) และจะถล่มลงหากแอตเลิสผละจากไปนั้น เป็นความคิดในยุคแรกเริ่มของชนชาติที่โง่เขลา

ความยุติธรรมของพิโซ

ลูชิอูส แอนเนอูส เซเนเกา
เกิด: ประมาณ 4 ปีก่อน ค.ศ. (พ.ศ. 140)
ตาย: ค.ศ. 65 (พ.ศ. 608)

ในผลงานของ ลูชิอูส แอนเนอูส เซเนเกา (ละติน: Lucius Annaeus Seneca) ประเภทบทสนทนา เรื่อง "เดอีรา" (ละติน: De Ira; "บนความพิโรธ") บรรพที่ 1 บทที่ 18 ว่า ทหารนายหนึ่งกลับมาจากการลาหยุดโดยมิได้พาเพื่อนผู้ติดตามกลับมาด้วยตามวินัยทหาร กเนอูส พิโซ (อังกฤษ: Gnaeus Piso) ผู้ว่าการรัฐและผู้บัญญัติกฎหมาย จึงสั่งด้วยความพิโรธโกรธาให้ประหารชีวิตทหารผู้นั้นทันที บนเหตุผลว่าทหารติดตามคนนั้นหายไป แสดงว่าถูกทหารผู้เพิ่งกลับมานั้นฆ่าแล้วเป็นแน่ ในขณะจ่อคอเข้าสู่คมดาบประหาร ปรากฏว่าาทหารติดตามคนที่สันนิษฐานว่าถูกฆ่าตายแล้วปรากฏตัวขึ้น ประธานการประหารจึงสั่งให้หยุดการ แล้วพาทหารที่ถูกกล่าวหาไปพบกเนอูส พิโซ เพื่อขอให้งดโทษเสีย แต่กเนอูสกลับสั่งให้ประหารชีวิตทหารนายนั้นตามเดิมบนเหตุผลว่าได้มีคำตัดสินไปแล้ว และสั่งให้ประหารชีวิตประธานการประหารผู้นั้นด้วยบนเหตุผลว่าไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย และสุดท้ายก็สั่งให้ประหารทหารติดตามที่สันนิษฐานว่าถูกฆ่าตายแล้วคนนั้นอีก บนเหตุผลว่าเป็นเหตุให้ผู้บริสุทธิ์ต้องจบชีวิตลงถึงสองคน

และด้วยการเล่าขานสืบต่อ ๆ กันมาถึงกรณีข้างต้นนี้ เกิดเป็นหลักการที่เรียกว่า "ความยุติธรรมของพิโซ" (อังกฤษ: Piso's Justice) ซึ่งมีว่า คำตัดสินใดที่มีไปโดยเจตนาตอบโต้ความผิดย่อมถือว่าถูกต้องในทางเทคนิค แต่ไม่ถูกต้องในทางศีลธรรม ซึ่งหลักการเช่นนี้อาจนับว่าเป็นการตีความภาษิต "จงประสาทความยุติธรรม แม้ฟ้าจะถล่มก็ตามที" ไปในทางลบ

กระนั้น แม้อันที่จริงแล้วบทสนทนาเรื่อง "เดอีรา" มิได้ปรากฏถ้อยคำของภาษิตดังกล่าวเลย แต่พจนานุกรมของบริวเวอร์ว่าด้วยวลีและนิทาน (อังกฤษ: Brewer's Dictionary of Phrase and Fable) ระบุว่ามีการปรากฏของภาษิตนี้[6]

อนึ่ง ยังเชื่อกันว่าสำนวน "จงประสาทความยุติธรรม แม้ฟ้าจะถล่มก็ตามที" เป็นคำของพิโซ แต่เป็นพิโซอีกคนหนึ่ง คือ ลูเชิส คาลเพอร์นิเอิส พิโซ ซีโซนิเนิส (อังกฤษ: Lucius Calpurnius Piso Caesoninus) รัฐบุรุษในสมัยโรมันโบราณผู้เป็นสสุระของจูเลียส ซีซาร์ ซึ่งคาดว่าจะเป็นการสับสนกับกรณีพิโซในบทสนทนา "เดอีรา" นี้

แหล่งที่มา

WikiPedia: จงประสาทความยุติธรรม แม้ฟ้าจะถล่มก็ตามที http://www.bartleby.com/81/13317.html http://books.google.com/books?id=ADXg6KnTP2kC&pg=P... http://books.google.com/books?id=LykHAAAAQAAJ&pg=P... http://www.merriam-webster.com/dictionary/fiat%20j... http://www.perseus.tufts.edu/cgi-bin/ptext?doc=Per... http://www.law.umkc.edu/faculty/projects/ftrials/t... http://www.constitution.org/kant/append1.htm http://la.wikisource.org/wiki/De_Ira#XVIII. http://www.google.co.th/search?q=%E0%B8%88%E0%B8%8...